top of page

พระสยามเทวาธิราช คือใคร?!?!

"หลวงพ่อครับ อยากเรียนถามว่าพระสยามเทวาธิราช ท่านให้คุณให้โทษทางไหนแก่ผู้บูชาหรือถวายสักการะแบบไหน ท่านจึงจะชอบใจและถูกใจขอรับ ?"

พระสยามเทวาธิราชนี่นะเริ่มมีเมื่อสมัยก่อนรัชกาลที่ 4 มีนะ แต่ก่อนพระเจ้าแผ่นดินสมัยนั้นก็บูชาเทวาชื่อนั้นชื่อนี้ที่เป็นญาติผู้ใหญ่เป็นคนสำคัญ ขออย่างนั้นอย่างนี้


ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านเป็นนักปราชญ์ เป็นนักบาลี ก็มาตั้งชื่อใหม่ว่า "พระสยามเทวาธิราช" หมายถึงว่า เทวดาทั้งหมดที่รักษาประเทศสยาม

ทีนี้ที่ถามว่าให้คุณให้โทษทางไหน ให้โทษนี้ก็ไม่ทราบ ให้คุณนี่ก็ไม่รู้ แต่ท่านเป็นเทวดาเอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะ


เมื่อปี 2518 ปีนั้นพระเจ้าอยู่หัวนิมนต์เข้าไป ที่ไปพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พอเข้าไปทำบุญวันจักรี พอเข้าไปนั่งปั๊บไม่ต้องคุยกับใครละ บรรดาพระสยามเทวาธิราชมากันเยอะแยะเลย

โอ้โฮ้ไม่ใช่องค์เดียว 2 องค์นะ ไม่ทราบว่าจะมากเท่าใดในบริเวณเต็มไปหมด ไม่ใช่เฉพาะในวังนะ เราก็ชักสงสัยว่าองค์ไหนชื่อ พระสยามเทวาธิราช


พอถามว่าองค์ไหนชื่อ พระสยามเทวาธิราช ให้บอก ชี้องค์นั้นก็ไม่ใช่ ชี้องค์นี้ก็ไม่ใช่ ต่างคนต่างบอกชื่อของตัวหมด ก็เลยนึกขึ้นมาว่า เออ ยังไงเทวดานี่ เลยบอกว่าถ้าไม่ใช่พระสยามเทวาธราช แล้วมาทำไมล่ะ พระเจ้าอยู่หัวก็ดี พระราชินีก็ดี ท่านทำบุญเพื่อพระสยามเทวาธิราช

ท่านก็บอกว่า เขาอยากเรียกผมอย่างนั้นทำไมล่ะ ผมไม่ได้ชื่อนั้นนี่


ก็รวมความว่าพระสยามเทวาธิราชจริงก็เป็นเทวดาที่รักษาประเทศไทยทั้งหมด สมัยก่อนเรียกประเทศสยาม ใช่ไหม


(จากธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ 204 เดือนมีนาคม 2541 หน้า 23)


 

คราวหนึ่งหลวงปู่ท่านพักอยู่บนดอยมูเซอ

วันหนึ่ง พระสยามเทวาธิราชพร้อมคณะเทพบริวารไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น

ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ พอรายงานตัวเสร็จหลวงปู่ท่านถามวัตถุประสงค์


พระสยามเทวาธิราชท่านบอกว่า

"เวลานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพอย่างหนักหน่วงพวกข้าพเจ้าได้ป้องกันเต็มที่"


ท่านถามว่า "มีคนบาดเจ็บล้มตายไหม"

" มี "

ทำไมไม่ช่วย" "ช่วยไม่ได้เพราะเขามีเวรกรรมกับฝ่ายข้าศึก จะช่วยได้แต่ผู้ไม่มีกรรม สถานที่สำคัญ และพระพุทธศาสนาเท่านั้น"


"พวกท่านมานี่ประสงค์อะไร"

เขาได้กราบเรียนว่า "ขอให้ท่านบอกคาถาปัดเป่าลูกระเบิดไม่ตกถูกในที่สำคัญ"

ท่านกำหนดพิจารณาหน่อยหนึ่งได้ความว่า " นะโมวิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา"

เท่านั้น เทพพวกนั้นที่สาธุการแล้วลากลับไป ไม่เห็นกลับมาอีกเลย


จากหนังสือบูรพาจารย์หน้า 600



 

พระคาถาบูชาพระสยามเทวาธิราช


สะยามะเทวาธิราชา เทวาติเทวา มะหิทธิกา เทยยะรัฏฐัง อะนุรักขันตุ

อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สุวัตถิ โหตุ

สัพพะทา สะยามะเทวานุภาเวนะ สะยามะเทวะเตชะสา

ทุกขะโรคะภะยา เวรา โสกา สัตตุ จุปัททะวา

อะเนกา อันตะรายาปิ วินัสสันตุ อะเสสะโต ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง

โสตถิภาคยัง สุขัง พะลัง สิริ อายุ จะ วัณโณ

จะ โภคัง วุฑฒิ จะ ยะสะวา สะตะวัสสา จะ อายุ จะ ชีวะสิทธี

ภะวันตุ เม

 


พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูป หล่อด้วยทองคำสูง 8 นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ


องค์พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า "ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช" (暹國顯靈神位敬奉)

เรือนแก้วเก๋งจีนนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

พระวิมานไม้แกะสลักปิดทองนี้ เรียกว่า พระวิมานไม้แกะสลักปิดทองสามมุข ด้านหน้าขององค์พระสยามเทวาธิราชตั้งรูปพระสุรัสวดี หรือพระพราหมี เทพเจ้าแห่งการดนตรีและขับร้อง มุขตะวันออกของพระวิมาน ตั้งรูปพระอิศวรและพระอุมา มุขตะวันตกของพระวิมาน ตั้งรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ


มีความเชื่อกันว่า “พระสยามเทวาธิราช” ทรงเป็นประมุขของเทพารักษ์ที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง มีเทพบริวารสำคัญ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระหลักเมือง เป็นต้น


ประวัติ

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการศึกษาประวัติศาสตร์ มีพระราชดำริว่าประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นหล่อเทวรูปสมมุติขึ้น ถวายพระนามว่าพระสยามเทวาธิราช ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร ในพระอภิเนาว์นิเวศน์


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะเป็นประจำวัน เครื่องสังเวยที่ถวายเป็นประจำนั้น จะถวายเฉพาะวันอังคาร และวันเสาร์ก่อนเวลาเพล โดยจะมีพนักงานฝ่ายพระราชฐานชั้นใน เป็นผู้เชิญเครื่องตั้งสังเวยบูชา เครื่องสังเวยประกอบด้วย ข้าวสุกหนึ่งถ้วยเชิง หมูนึ่งหนึ่งชิ้น พร้อมด้วยน้ำพริกเผา ปลานึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำจิ้ม ขนมต้มแดงและขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล ผลไม้ตามฤดูกาลสองอย่าง และน้ำสะอาดอีกหนึ่งถ้วย โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพระราชพิธีสังเวยเทวดา ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี


ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเลียนแบบพระสยามเทวาธิราชแต่แปลงเค้าพระพักตร์ให้เหมือนสมเด็จ พระชนกาธิราช เพื่อทรงสักการะ พระบรมรูปองค์นี้ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต


ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์พระพุทธมณเฑียร และพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างเสาไม้หุ้มปูน ที่ได้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ยากที่จะบูรณะให้คงสภาพเดิมไว้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงทั้งหมด และอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิมานทองสามมุขเหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตราบจนถึงทุกวันนี้


พระราชพิธีบวงสรวงใหญ่พระสยามเทวาธิราช ตามประเพณีกำหนดไว้ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามจันทรคติแบบโบราณ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จแทนพระองค์มาทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะพระสยามเทวาธิราช และมีละครในจากกรมศิลปากรรำถวาย


ระหว่างวันที่ ๗ - ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อครั้งฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ขึ้นเสลี่ยงโดยประทับบนพานทอง 2 ชั้น สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จ เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง ในวันพุธที่ 7 เมษายน 2525 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธุชนเข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชหลังเสด็จฯ กลับ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2525 นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชเฉพาะพระพักตร์


อ้างอิง


Comments


Single Post: Blog_Single_Post_Widget

Fengshui Articles & Contents 

บทความทั้งหมดนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ fengshuix หากท่านใดต้องการนำไปเผยแพร่ที่อื่น กรุณาติดต่ออย่างเป็นทางการก่อนนะครับ คุณสามารถเลือกหมวดหมู่ที่ต้องการ หรือกรอกข้อมูลที่ต้องการค้นหาในช่องด้านล่างได้เลยครับ

และพึงระลึกเสมอว่า บทความฮวงจุ้ย โหราศาสตร์ที่อยู่ใน Internet นั้น มีข้อจำกัดทางด้านภาษาและความเข้าใจของผู้อ่าน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเขียนบทความถ่ายทอดความรู้ได้เพียงระดับนึงเท่านั้น หากต้องการความรู้ เคล็ดลับ หรือเทคนิคขั้นสูงที่ซินแสร่ำเรียนศึกษา ท่านจำเป็นต้องติดต่อส่วนตัว หรือเข้ามาเรียนกับอาจารย์ด้วยตัวเองเท่านั้น และหวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านครับ

บทความอื่นๆล่าสุด

Tags

bottom of page